การซื้ออสังหาริมทรัพย์ จากบุคคลอื่น (คนขาย) หากเป็นบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนสมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส โดยทำเป็นหนังสือยินยอมจากคู่สมรส เสียก่อน

เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทตามมาภายหลัง “อสังหาฯ ทูเดย์” จะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ดังนี้
ตัวอย่าง : นายแดง อยู่กินฉันสามีภรรยา กับนางเขียว ซึ่งจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หลังอยู่กินกันมาหลายปี นายแดง กับ นางเขียว ได้ตกลงกันซื้อที่ดิน 1 แปลง โดยในโฉนดที่ดิน (ด้านหลังโฉนด) ให้ใส่ชื่อนายแดง เพียงคนเดียว
กรณีนี้ แม้จะมีเพียงแค่ชื่อนายแดงเพียงคนเดียว แต่ยังถือว่าเป็นสินสมรส ระหว่างนายแดง และนางเขียว
หากภายหลัง นายแดงแอบขายที่ดินแปลงดังกว่า หรือแอบยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้ผู้อื่น โดยไม่บอกนางเขียว หรือไม่ได้รับความยินยอมจากนางเขียว
นางเขียวสามารถฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2565

ผลกระทบคนซื้ออสังหาฯ หากไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
คุณอาจจะต้องเสียอสังหาฯที่คุณซื้อมาโดยสุจริต (คุณอาจจะสงสัย ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่คุณก็จ่ายเงินซื้อมาด้วยความสุจริต แต่… เจตนาคุณขายไม่ได้สุจริต)


แต่คุณไม่ต้องกังวลใจไป ว่าจะทราบได้อย่างไร หากบุคคลที่ขายอสังหาฯให้คุณจดทะเบียนสมรสหรือไม่ได้จดทะเบียนสมรส
โดยปกติแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินที่คุณไปโอนกรรมสิทธิ์ เขาจะเช็กข้อมูลคนขายว่ามีคู่สมรสหรือไม่ หากมีคู่สมรส เจ้าหน้าที่จะแจ้งขอหนังสือยินยอมจากคู่สมรสเพิ่มเติมอีกที (หากไม่มี ก็โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้)