7 ข้อหลักสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากกู้ซื้อบ้าน


1. ช่วงอายุ

พนักงานบริษัทที่เริ่มวางแผนจะกู้ซื้อบ้านหลังแรก อายุส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงานกันทั้งนั้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงอายุที่มีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายมากกว่า ต่างจากกรณีที่ผู้ขอกู้อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรืออายุเกินเกณฑ์ที่กำหนด คือ อยู่ในช่วงอายุ 60-65 ปี สถาบันการเงินจะจัดว่าเป็นช่วงอายุที่พ้นจากวัยทำงาน และจะทำการประเมินว่า “ไม่มีรายได้จากการทำงานในระยะยาว” ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ฉะนั้นถ้ายังเป็นพนักงานบริษัทที่อายุอยู่ในวัยเริ่มทำงานไปจนถึงวัยกลางคนแล้วล่ะก็ วางใจไปได้เลยเรื่องอายุไม่ถือเป็นอุปสรรคในการอนุมัติอย่างแน่นอน

2. แหล่งรายได้ต้องมีความมั่นคง

การที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือน สิ่งหนึ่งที่สถาบันการเงินจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อพิจารณา คือ เรื่องความมั่นคงขององค์กรที่ทำงาน ซึ่งด้วยเหตุผลนี้ พนักงานที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจก็อาจจะดูมั่นคงมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าบริษัทเอกชนทั่วไปจะไม่มีโอกาสกันนะ ถ้าหากเราทำงานในบริษัทเอกชนที่ดูมีความมั่นคงก็มีเปอร์เซ็นต์สูงในการอนุมัติสินเชื่อบ้านได้เช่นเดียวกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับการกู้ซื้อบ้านอยากฟังต่อแบบรวดเดียวจบครบในคลิปเดียว ขอแนะนำ Krungsri The COACH Ep.49 มนุษย์เงินเดือนขอสินเชื่อยังไงให้ผ่านฉลุย เข้าไปฟังกันต่อได้เลย

3. ประวัติการชำระหนี้

ถึงจะเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา แต่ถ้ามีประวัติดี ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในสินเชื่อประเภทใด ๆ หรือไม่ถูกแบล็กลิสต์ ติดเครดิตบูโร ก็จะทำให้มีน้ำหนักในการขอกู้ซื้อบ้านเพิ่มมากขึ้น ในบางกรณีอาจจะมีรายได้สูง หรือมีธุรกิจส่วนตัว แต่ถ้ามีประวัติไม่ดีในเรื่องการเงิน จนถึงขั้นติดแบล็กลิสต์หรือติดเครดิตบูโร ก็จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะปฏิเสธการขอสินเชื่อได้

เริ่มหาสินเชื่อ ธนาคารไหน อนุมัติง่าย ลองตอบคำถามง่าย ๆ 3 ข้อนี้ดู

  • ใช้จ่ายในแต่ละเดือนเท่าไหร่ และสะดวกผ่อนมากน้อยเท่าไหร่?
  • ใช้เดือนชนเดือนหรือเปล่า?
  • ตัดสินใจซื้อบ้านหลังใหญ่จนยอมตัดครึ่งหนึ่งของเงินเดือนมาผ่อนจะไหวไหม?

เช่น เงินเดือน 50,000 บาท ครึ่งหนึ่งผ่อนชำระ และครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายตลอดเดือนด้วยเงิน 25,000 บาทตลอดการกู้ 20 ปี จะจัดการกับเงินได้ไหมนะ?

ทริคดาวน์บ้าน ขั้นต่ำ! อย่างไรให้ได้บ้านราคาแพงขึ้นไปอีก

ตัวอย่าง ถ้ามีเงินดาวน์ 500,000 บาท จากปกติซื้อบ้านได้ในราคา 3.5 ล้านบาท สามารถกู้เพิ่มอีกถึง 4 ล้าน เพราะฉะนั้น เราก็จะได้บ้านที่ใกล้ใจกลางเมืองเข้ามาอีก หรือมีพื้นที่ที่กว้างเพิ่มขึ้นอีกนั่นเอง

เวลากู้ซื้อบ้านให้ซื้อหลังที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่กำลังทรัพย์เราจะไหว ณ ตอนนั้น เพราะเนื่องจากว่าตอนที่ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินมานั้น สมมุติเงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท แต่ในอนาคตถ้าเรามีโอกาสได้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือมีเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การผ่อนบ้านใน 3 ปีแรก อาจจะหนักไปหน่อยแต่ในช่วงปีหลัง ๆ ของการผ่อนจะเริ่มดีขึ้นไม่หนักมากเท่าไหร่

4. ความสามารถในการชำระหนี้ของคู่สมรส (สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว)

ในกรณีการกู้ซื้อบ้านร่วมพร้อมกับคู่สมรสที่มีรายได้แน่นอน และมีความมั่นคงเช่นเดียวกัน จะมีส่วนช่วยเพิ่มแนวโน้มที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อได้มากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะนำรายได้ของทั้งสามี และภรรยามาประเมินความสามารถในการชำระหนี้ มากไปกว่านั้นยังทำให้ได้รับวงเงินในการกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้นด้วย

5. พิจารณาผู้กู้ร่วมเพื่อได้วงเงินที่สูง (สำหรับคนโสด)

เพื่อให้ได้มาซึ่งการขอกู้ซื้อบ้านในวงเงินที่สูงแล้วนั้น อาจจะต้องใช้วิธียื่นขอสินเชื่อแบบมีผู้กู้ร่วม ซึ่งต้องแสดงเอกสารทางการเงินของผู้กู้ร่วมเช่นเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้กู้ร่วมต้องเป็นญาติเท่านั้น และต้องทำความเข้าใจเรื่องประวัติการกู้ให้ชัดเจน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการรับทราบภาระหนี้ในเอกสารต่าง ๆ ทางการเงิน เช่น รายงานทางการเงินของเครดิตบูโร เป็นต้น

6. บ้านที่จะซื้ออยู่ในทำเลที่ดี หรืออยู่ในโครงการที่น่าเชื่อถือไหม?

ปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสที่รายได้ และคุณสมบัติส่วนตัวของตัวเองมากกว่า โดยไม่ได้คำนึงถึง ทำเล หรือโครงการบ้านที่เราต้องการซื้อ เนื่องจากสิ่งนี้ส่งผลต่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินด้วย เนื่องจากสินเชื่อบ้านเป็นการกู้ในระยะยาว สถาบันการเงินจึงต้องคำนวณว่า หากผู้กู้เกิดปัญหาในการชำระเงินจนทำให้สถาบันการเงินต้องยึดบ้าน สถาบันการเงินจะสามารถนำบ้านที่ยึดมาขายทอดตลอดได้ไม่ยากนัก ดังนั้น การตัดสินใจเลือกซื้อบ้านในโครงการต่าง ๆ จึงมีผลต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

7. เตรียมเอกสารการขอกู้

เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน และได้สถาบันการเงินที่ถูกใจ อย่าง “สินเชื่อบ้านกรุงศรี เพื่อที่อยู่อาศัย” ก็ถึงเวลาเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการกู้แล้ว

ซึ่งเอกสารสำคัญที่ต้องเตรียม มีดังต่อไปนี้

เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการ
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของคู่สมรส (ถ้ามี)
  • สำเนาทะเบียนสมรส / หย่า / ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาใบมรณบัตร และทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
  • สำเนาใบประกอบวิชาชีพที่ถือไม่น้อยกว่า 2 ปี และยังไม่หมดอายุ สำหรับกลุ่มอาชีพพิเศษ (ถ้ามี)

เอกสารแสดงรายได้

กรณีบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ประจำ

  • หนังสือรับรองการทำงาน หรือสำเนาสลิปเงินเดือน (ฉบับล่าสุด) (สำเนาสลิปเงินเดือนย้อนหลัง 12 เดือน กรณีมีรายได้เป็น commission)
  • หนังสือรับรองโบนัสประจำ (ถ้ามี)
  • สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน (ย้อนหลัง 12 เดือน กรณีมีรายได้เป็น commission)
  • แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (50 ทวิ และ ภงด.90/91) พร้อมใบเสร็จการชำระภาษีย้อนหลัง 2 ปี

กรณีบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว

  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน / ใบทะเบียนการค้า ไม่เกิน 3 เดือน
  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้ / ผู้กู้ร่วม ไม่เกิน 3 เดือน
  • สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน (ทั้งในนามบุคคลและกิจการ)
  • สำเนา ภ.พ.30 พร้อมใบเสร็จ (ถ้ามี)
  • สำเนา ภ.พ.20 (ถ้ามี)
  • สำเนาบริคณห์สนธิ ไม่เกิน 3 เดือน

เอกสารทางด้านหลักประกัน

  • สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น โฉนดที่ดิน หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (ขนาดเท่าตัวจริงทุกหน้า)
  • ใบอนุญาตปลูกสร้าง / หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ทด.13) หรือหนังสือสัญญาให้ที่ดิน (ทด.14 )
  • สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย และหลักฐานการจ่ายชำระเงินดาวน์ (ถ้ามี)
  • สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (กรณีถ้ามีสัญญาเงินกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอื่น และอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ)
  • แผนที่ตั้งหลักประกันโดยสังเขป

ถึงแม้การกู้ซื้อบ้านจะเป็นภาระทางการเงินในระยะยาว แต่ถ้าหากเรามีการวางแผนที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านการเงิน การเลือกบ้านที่เหมาะสมกับความต้องการ รวมไปถึงการตรวจสอบหาแหล่งเงินกู้ซื้อบ้านที่จะสามารถทำให้เราสามารถผ่อนบ้านได้อย่างไม่ลำบากแล้วนั้น การมีบ้านในฝันที่ตอบโจทย์ความต้องการก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป